นอกจากอาหารไทยที่ขึ้นชื่อโด่งดังไกลไปทั่วโลกแล้ว ผลไม้ไทยก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้ไม่น้อย ทั้งนี้ก็เป็นเพราะผลไม้ไทยนั้นมีหลากหลายชนิด ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามฤดูกาลมีให้รับประทานได้ตลอดทั้งปี ที่สำคัญรสชาติอร่อยถูกปาก จึงทำให้ผลไม้ไทยถูกส่งออกไปขายยังต่างประเทศอยู่เสมอ วันนี้เราจึงจะมาชี้ช่องแนะขั้นตอน ส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศ ให้สำหรับคนที่กำลังมองหาโอกาสเติบโตในธุรกิจส่งออกผลไม้ไทย ซึ่งจะมีรายละเอียดและขั้นตอนอย่างไรบ้างนั้น มาหาคำตอบพร้อมกันได้ในบทความนี้
แนวโน้มการส่งออกผลไม้ไทยไปต่างประเทศ
ตลาดการส่งออกผลไม้ไทยถือว่าเติบโตขึ้นสูงมาก อย่างในปีที่แล้ว 2565 การส่งออกผลไม้มาเป็นอันดับหนึ่งของการส่งออกสินค้าเกษตร โดยมีปริมาณการส่งออกถึง 2.94 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.72 แสนล้านบาท ซึ่งประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของผลไม้ไทยก็คือจีน นำเข้าปริมาณกว่า1.16 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 9.2 หมี่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่และมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงขึ้นไปในอนาคต ถือเป็นโอกาสทองของการทำธุรกิจ
นอกจากผลไม้สดแล้ว ผลไม้อบแห้งก็เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่น่าสนใจ เพราะตลาดขนมขบเคี้ยวผักและผลไม้แห้งในจีนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2565 มีมูลค่ามากถึง 1.5 ล้านล้านหยวน การส่งออกผลไม้อบแห้งจึงเติบโตไม่แพ้ผลไม้สด อีกทั้งยังขนส่งง่ายกว่าผลไม้สดด้วย เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องความเน่าเสีย อุณหภูมิ และความชื้นในการขนส่ง
ส่งออกผลไม้อบแห้งไปต่างประเทศ ต่างจากผลไม้สดยังไง?
การส่งออกผลไม้ไทยไปต่างประเทศ นั้นมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการทางเอกสารในเชิงรายละเอียดมากมาย ใช่ว่านึกอยากจะส่งสินค้าออกไปจำหน่ายนอกประเทศก็จะทำได้โดยง่าย หากแต่ยังมีขั้นตอนที่ต้องคำนึงและตรวจสอบอย่างรัดกุม โดยการส่งออกผลไม้สดกับผลไม้อบแห้งนั้นก็มีขั้นตอนที่แตกต่างกันเล็กน้อย เรามาเริ่มกันที่ขั้นตอนการส่งออกผลไม้สดกันก่อนว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง
- ตรวจสอบและขอใบรับรองผู้ส่งออกกับกรมศุลกากร
- ตรวจสอบและขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรจากกรมศุลกากร
- ลงทะเบียนผู้ส่งออกกับกรมการค้าระหว่างประเทศ
- ตรวจสอบกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า และขอใบอนุญาตจากหน่วยงานที่ควบคุมหรือที่เกี่ยวข้อง ตามที่ประเทศผู้นำเข้าต้องการ เช่น จดทะเบียนขอส่งออกสินค้าเกษตรออกนอกราชอาณาจักร และขอใบรับรองสุขอนามัย (Health Certificate) กับกรมวิชาการเกษตร
- สรุปเงื่อนไข ค่าใช้จ่าย และการดำเนินการกับผู้ซื้อ พร้อมกับเลือกวิธีการขนส่ง จัดหาระวางเรือหรือเครื่องบิน
- ดำเนินการพิธีการศุลกากร (e-Customs)
- ขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin) จากกรมการค้าต่างประเทศ
- กำหนดวันสินค้าไปถึงปลายทาง พร้อมส่งออก
- ส่งเอกสารทางการค้าที่เกี่ยวข้อง (Shipping Documents) ไปยังผู้นำเข้าในต่างประเทศ
- บริหารสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ตามที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ
ส่วนการ ส่งออกผลไม้อบแห้งไปต่างประเทศ นั้นก็จะเหมือนกับการส่งออกผลไม้สด แต่ก็จะมีรายละเอียดบางประการที่แตกต่างจากการส่งผลไม้สดอยู่บ้างเล็กน้อย เพราะถือว่าผลไม้แห้งเป็นสินค้าแปรรูป อาจจะจัดอยู่ในหมวดอาหารหรือขนม ขั้นตอนที่เราจะต้องทำเพิ่มก็คือขั้นตอนที่ 4 คือ ต้องไปขอใบอนุญาตเพิ่มเติมจากหน่วยงานของรัฐ เช่น ใบรับรองผลิตภัณฑ์อาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล และขอใบรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลเพื่อการส่งออกจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนและเอกสารต่าง ๆ ได้ที่ ศูนย์บริการส่งออกแบบเบ็ดเสร็จ (OSEC) เว็บไซต์ https://onestopservice.ditp.go.th/
นอกจากนี้ วิธีการหีบห่อและส่งออกผลไม้สดและผลไม้อบแห้งยังแตกต่างกันด้วย ผลไม้อบแห้งนั้นเราสามารถบรรจุหีบห่อหรือมีบรรจุภัณฑ์ที่ง่ายต่อการขนย้าย ที่สำคัญยังสามารถเก็บได้นาน ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความล่าช้าในการขนส่ง ไม่ต้องกังวลเรื่องการคงรักษาความสดใหม่ หรือเกรงว่าจะเน่าเสีย หรือต้องระมัดระวังไม่ให้ผลไม้ช้ำแบบการส่งออกผลไม้สด เมื่อคำนวณดูแล้ว การหีบห่อผลไม้แห้งจะมีต้นทุนการขนส่งที่ถูกกว่า
การขนส่งผลไม้ไปต่างประเทศ ทำได้ยังไงบ้าง?
แน่นอนว่าขั้นตอนที่สำคัญของ การขนส่งผลไม้ไปต่างประเทศ หลังจากได้รับอนุญาตทางเอกสารจากหน่วยงานของรัฐแล้ว ก็คือการดำเนินการส่งออกสินค้าของเราไปสู่มือลูกค้าในต่างแดน เราจำเป็นจะต้องเลือกหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่ทำหน้าที่ ส่งของไปต่างประเทศ ให้เรา ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นขนส่งเอกชน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าผลไม้ของเราจะไปถึงปลายทางอย่างราบรื่น อีกทั้งการที่เราเลือกบริษัทขนส่งที่ดีนั้น จะทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว ประหยัดงบประมาณ ลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าลงได้ ยิ่งถ้ามีบริการดำเนินการทางเอกสารให้แบบ ono stop service ยิ่งสะดวก เพราะช่วยประหยัดเวลาที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งไปได้มาก
การเลือกบริษัทขนส่งต้องพิจารณาว่ามีคลังสินค้ากระจายอยู่เพียงพอทั่วโลกไหมเพื่อลูกค้าได้รับของเร็วกว่า ผลไม้จะได้ไม่ตกค้างในคลังสินค้านานหลายวัน ยิ่งถ้ามีบริการนอมินีช่วยนำเข้าและขนส่งไปสู่ลูกค้าด้วยก็ยิ่งดี ลูกค้าจะได้ไม่ต้องมารับสินค้าเองถึงที่คลังสินค้า
ธุรกิจ ส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะสร้างผลกำไรได้ไม่น้อย ยิ่งมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ก็ยิ่งเป็นโอกาสทองที่จะต้องรีบไขว่คว้าไว้ ที่สำคัญการส่งออกผลไม้ไทยยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ ส่งเสริมภาคเกษตรกรให้มีรายได้ที่นอกเหนือจากการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีอัตราเติบโตก้าวหน้าขึ้นและนำรายได้กลับเข้ามาอย่างมหาศาล
ที่มาข้อมูล
- https://onestopservice.ditp.go.th/export
- https://onestopservice.ditp.go.th/file/DB060_08134090.pdf
- https://www.thansettakij.com/economy/534318
- https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/845658/845658.pdf&title=845658&cate=414&d=0
- https://www.tcijthai.com/news/2023/2/current/12773#:~:text=กองบรรณาธิการ%20TCIJ%203%20ก,อันดับ%203%20ยางพาราและผลิตภัณฑ์
- https://www.ditp.go.th/ditp_web61/article_sub_view.php?filename=contents_attach/977212/977212.pdf&title=977212&cate=413&d=0